สวัสดีค่ะ พอดีผ่านไปแถวคลองประปาแถวบางใหญ่เมื่อเดือนก่อน เห็นเหล่าทหารหาญ(น่าจะมากันทั้งกองร้อย) ลงไปในคลองเพื่อลอกต้นผักตบชวาอันหนาแน่นในคลอง ( แต่ตอนที่เห็นตัดสินใจไม่ถูกว่าระหว่างจำนวนผักตบชวากับจำนวนทหารในคลองอันไหนแน่น…เอ๊ย…หนาแน่นกว่ากัน อิอิ)
ผลจากการอุทิศแรงกายแรงใจของเหล่าทหารหนุ่ม ทำให้เกิดกองผักตบชวาริมฝั่งคลองกองสูงเกือบเท่าตึก 2 ชั้น) ก็เลยคิดเลยไปว่าถ้าได้เป็นเจ้าของกองผักตบกองมหึหากองนี้จะเอาไปทำอะไรดีน้า…
ว่าแล้วก็ได้ลองหาข้อมูลประโยชน์ของผักตบชวาว่าถ้านำมาทำปุ๋ยหมัก จะเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุโปแตสเซียมสูง เหมาะกับพืชหัวต่างๆเช่น มัน มะพร้าว และอ้อย โดยถ้าต้นไม้ขาดธาตุโปแตสเซียมก็จะทำให้ต้นแคระแกรน หรือง่ายๆว่าอ้อยไม่ค่อยหวาน มะพร้าวไม่ค่อยมัน
วิธีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาก็มี 4 วิธี คือ
วิธีที่ 1.ปล่อยให้ผักตบชวาแห้ง แล้วนำผักตบชวาไปเผาเพื่อเก็บขี้เถ้าซึ่งมีโปแตสเซียมอยู่ถึง 20% เอาไปใส่ให้แก่พืชที่ปลูก มีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องขนให้หนัก แต่ก็ได้เผาอินทรียวัตถุที่พืชต้องการไปหมด
วิธีที่ 2.ทำเป็นปุ๋ยหมักโดยกองสลับชั้นกับดิน ปุ๋ยคอก ขยะ ซึ่งจะเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยหมัก นำไปใช้ได้ภายใน 2 เดือน ระหว่างหมัก ควรกลับกองปุ๋ยหมักทุกๆ 15 วัน โดยเอาส่วนบนลงล่างและส่วนล่างขึ้นบน กลับกองปุ๋ยหมักสัก 2 ครั้ง จากนั้นก็ปล่อยให้ค่อยๆ กลายเป็นปุ๋ยหมักซึ่งจะมีสีดำคล้ำ ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา ผสมดิน มีองค์ประกอบคือ ไนโตรเจน 2.05% ฟอสฟอรัส 1.1% โปแตสเซียม 2.5% ธาตุทั้งสามอย่างน้ำเป็นอาหารธาตุที่จำเป็นแก่การเจริญเติบโตของพืชทุกชนิดในดิน ป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น และเมื่อสลายตัว ก็กลายเป็นอินทรียวัตถุและปุ๋ยให้แก่พืชปลูก
วิธีที่ 3. ถ้าทำปริมาณมากๆ ก็ลองศึกษาการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
วิธีที่ 4. ทำวัสดุคลุมดิน โดยการนำเอาผักตบชวาไปคลุมพืชปลูก เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน ป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น และเมื่อสลายตัว ก็กลายเป็นอินทรียวัตถุและปุ๋ยให้แก่พืชปลูก
นอกจากนี้ ผักตบชวาแห้งก็ยังเหมาะกับการนำไปเพาะเห็ดฟาง หากสนใจก็ลองศึกษาเพิ่มเติมกันดู งานนี้ได้ปุ๋ยดีๆฟรี แล้วยังช่วยทำให้แม่น้ำลำคลองใสสะอาด ไม่ต้องลำบากคุณทหารด้วยนะจ้ะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปดีๆจาก https://www.facebook.com/DoctorFarmAndTecnology/posts/146449662184023
และ https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/subsoil/potas.htm